พ.ร.บ รถยนต์คืออะไร จำเป็นหรือไม่ ?

พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร?

พ.ร.บ.รถยนต์ หรือ ประกัน พ.ร.บ. ที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ นั้นหมายถึง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายบังคับที่ให้รถยนต์ทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกต้องจัดให้มีประกันภัยอย่างน้อยที่สุด คือ การทำประกันภัยภายใต้ข้อบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือที่เรียกกันว่า ประกันภัย พ.ร.บ.รถยนต์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้ประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถได้อย่างทันท่วงที โดยไม่คำนึงถึงว่าบุคคลที่ประสบอุบัติเหตุดังกล่าวเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่

โดยพรบ รถยนต์ นี้ได้กำหนดให้เจ้าของรถที่มีชื่อในเล่มทะเบียนรถยนต์หรือผู้ครอบครองรถในกรณีเป็นผู้เช่าซื้อรถ ต้องต่ออายุพรบ ในทุก ๆ ปี เนื่องจากเป็นประกันภาคบังคับ และยังเป็นหลักฐานที่จำเป็นต่อการต่อภาษีรถยนต์ในทุก ๆ ปีด้วย หากในกรณีที่ไม่ต่อพรบ จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

พ.ร.บ. รถยนต์คุ้มครองอะไร ?

1. คุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้น

สำหรับผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือคนเดินเท้า จะได้รับความคุ้มครอง เป็นค่ารักษาพยาบาลในกรณีบาดเจ็บ และค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความผิด ซึ่งทางบริษัทประกันจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย หรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่บริษัทได้รับคำร้องขอ ซึ่งแบ่งออกได้ 3 กรณี คือ

  • ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท/คน
  • กรณีผู้ประสบภัยสูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต จะได้รับค่าชดเชยจำนวน 35,000 บาท/คน
  • กรณีผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บ และต่อมาได้สูญเสียอวัยวะ จะได้รับค่าชดเชยรวมกันแล้วไม่เกิน 65,000 บาท/คน
  • กรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิตหลังจากเข้ารักษาพยาบาล จะได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 65,000 บาท/คน

2. คุ้มครองค่าสินไหมทดแทน

เป็นค่าเสียหายที่นอกเหนือจากค่าเสียหายเบื้องต้น โดยบริษัทประกันจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน ในกรณีผู้ประสบภัยได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายถูก จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินดังนี้

  • ค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายอย่างอื่นที่ผู้ประสบภัย สามารถเรียกร้องได้ไม่เกิน 80,000 บาท/คน
  • สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทประกันจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 200,000 – 500,000 บาท/คน
  • กรณีเสียชีวิต บริษัทประกันจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท/คน
  • ในกรณีที่เข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท จำนวนรวมกันไม่เกิน 20 วัน

พ.ร.บ.รถยนต์ ทำยังไง ใช้เอกสารอะไรบ้าง?

การทำพ.ร.บ. หรือต่อพ.ร.บ.รถยนต์นั้นปัจจุบันสามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ กรมขนส่ง ที่ทำการไปรษณีย์ ห้างสรรพสินค้า และเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือช่องทางออนไลน์ โดยขั้นตอนของการต่อพรบ รถยนต์ สามารถแบ่งได้ตามกรณีของรถยนต์ใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 7 ปีและรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป

ขั้นตอนการต่อพรบรถยนต์ของรถใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี

กรณีที่เป็นรถใหม่มีอายุไม่เกิน 7 ปี สามารถนำเอกสาร สำเนาทะเบียนรถ หรือเล่มจริง และสำเนาบัตรประชาชน ไปที่ทำการรับบริการต่อพรบรถใกล้บ้านได้เลยค่ะ

ขั้นตอนการต่อพ.ร.บ.รถยนต์ของรถที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป

การต่อพ.ร.บ.รถยนต์ของรถที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป จะต้องตรวจสภาพรถก่อน โดยสามารถตรวจได้ที่สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ทุกแห่ง ที่ได้การรับรองจากกรมการขนส่งทางบก รวมถึงที่กรมขนส่งทางบกง ส่วนอัตราค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถยนต์ ขึ้นอยู่กับประเภทรถ โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้

  • รถยนต์โดยสารที่นั่งไม่เกิน 7 คน 600 บาท/ปี
  • รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน ไม่เกิน 15 ที่นั่ง 1,100 บาท/ปี
  • รถยนต์โดยสารเกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง 2,050 บาท/ปี
  • รถยนต์โดยสารเกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง 3,200 บาท/ปี
  • รถยนต์โดยสารเกิน 40 ที่นั่ง 3,740 บาท/ปี
  • รถยนต์ไฟฟ้า 600 บาท/ปี

ซึ่งการต่อพ.ร.บ.รถยนต์ จะต้องใช้เอกสารที่ต่างจากการทำพรบ รถยนต์ใหม่ ได้แก่

  1. สมุดคู่มือจดทะเบียนรถตัวจริงหรือสำเนา
  2. เอกสาร พ.ร.บ.รถยนต์ ที่ยังไม่หมดอายุ
  3. ใบรับรองการตรวจสภาพรถ (กรณีที่รถมีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป)
  4. เงินสำหรับอัตราภาษีรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522

พ.ร.บ.รถยนต์ ต่อที่ไหนได้บ้าง ?

ในปัจจุบันการต่อ พรบ รถยนต์ก็มีวิธีที่สะดวกสบายขึ้น เพื่อช่วยให้เจ้าของรถได้ต่อพรบ รถยนต์ ทันเวลา ประหยัดเวลา และช่วยหลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับด้วย ซึ่งการต่อออนไลน์นั้นสามารถทำได้ที่เว็บไซต์กรมขนส่งทางบก https://eservice.dlt.go.th