
ทางม้าลายคือ เครื่องหมายจราจรที่เกี่ยวข้องกับทั้งผู้ขับรถและคนเดินเท้า ซึ่งถูกใช้เป็นสากลทั่วโลก แต่กลับเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกละเลยมากที่สุด ทั้งคนขับรถบนท้องถนนที่ไม่ยอมจอดให้คนข้าม และคนเดินข้ามถนนที่ไม่ยอมข้ามทางม้าลาย (รวมทั้งสะพานลอย) ทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งแล้วครั้งเล่า วันนี้เราจึงจะพาไปทำความรู้จักกับที่มาและสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับทางม้าลายที่ทุกคนควรรู้กัน
ทางม้าลาย ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Pedestrian Crossing โดยได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษช่วงปี ค.ศ. 1934 จากการแนะนำในกฎหมายข้อ 18 ของ Road Traffic Act ในสหราชอาณาจักร ที่กำหนดให้รถทุกประเภทต้องหยุดให้คนเดินข้ามถนน พร้อมกำหนดให้จุดข้ามถนนของผู้คน ต้องมีลักษณะเป็นเส้นตรงสลับช่องในแนวขวางของถนน
สีทางม้าลาย ก่อนหน้านี้ไม่ใช่ขาว-ดำ?
ในตอนนั้น เส้นตรงดังกล่าวยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ มีลักษณะเป็นเส้นตรงสลับช่องในแนวขวางกว้างประมาณ 40 – 60 เซนติเมตรเหมือนอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ เพื่อให้คนใช้ข้ามถนน แต่ในช่วงแรกจะเป็นการทดลองใช้หลากหลายสี โดยเริ่มต้นจากเส้นสีทางม้าลาย เหลือง-น้ำเงิน ใน 1,000 ประเทศทั่วโลก ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีขาว-แดง หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1951 ก็ถูกปรับมาใช้เป็นสีเดียวกันหมดคือ สีทางม้าลายขาว-ดำ เนื่องจาก มีข้อสรุปว่า สีขาวกับสีดำตัดกับสีถนนได้ดี และมองเห็นชัดทั้งคนขับรถและคนข้ามถนนที่สุด
ทางม้าลายสีขาว-ดำเริ่มใช้ครั้งแรกบนถนนในเมือง Slough เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1951ก่อนที่จะเริ่มถูกนำไปใช้แพร่หลาย พร้อมทั้งตั้งชื่อเรียกว่า Zebra Crossing ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภาษาไทยว่า “ทางม้าลาย” เนื่องจาก James Callaghan อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร (1976 – 1979) มองเห็นทางข้ามแล้วนึกถึงม้าลายขึ้นมานั่นเอง